6 ท่ากายภาพบำบัด ช่วยให้ไกลจากอาการเข่าเสื่อม

  • English
  • ภาษาไทย

หนึ่งในโรคที่คนสูงอายุมักจะเป็นกันเยอะเลยนั่นก็คือ โรคเข่าเสื่อม หรือข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากอายุการใช้งานข้อเข่าที่เพิ่มมากขึ้นอายุของเรา ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป แต่ก็ยังมีวิธีที่ช่วยชะลอหรือยืดอายุของข้อเข่าไม่ให้เสื่อมก่อนถึงวัยอันควรหรือยังมีการทำงานที่แข็งแรงอยู่นั่นคือ การทำกายภาพบำบัด และการทำกายภาพบำบัดง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านอย่างการทำกายบริหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยยืดอายุการทำงานของข้อเข่า ช่วยให้ไกลจากอาการเข่าเสื่อม โดยท่ากายบริหารแบบกายภาพบำบัดจะมีท่าไหนบ้างไปดูกันเลย

ท่ากายบริหาร ห่างไกลอาการเข่าเสื่อม

การทำกายบริหารแบบง่ายๆ ที่บ้านเพื่อช่วยให้ห่างไกลจากอาการเข่าเสื่อมนั้น จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 2 ท่า โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเข่าเสื่อม หรือ ข้อเข่าเสื่อม หันมาดูแลสุขภาพร่างกายด้วยตนเอง เพื่อให้มีการใช้ชีวิตที่มีความสุข ไม่ต้องมีอาการเจ็บปวดเมื่อขยับเข่าหรือขา โดยท่ากายบริหารที่ว่ามาได้แก่ท่าต่างๆ เหล่านี้

กลุ่มที่ 1 เพิ่มการทำงานของหัวใจและดึงไขมันเก่ามาใช้ เพื่อลดน้ำหนักตัว

  • ท่าที่ 1 นั่งบนเก้าอี้ ค่อยๆ ยกต้นขาขึ้นหนึ่งข้าง แล้วผายขาออกไปแตะพื้นด้านข้าง ทำสลับกัน 10 ครั้ง
  • ท่าที่ 2 เหยียดขาตรงมาด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง เตะขาสลับข้าง เท้าลอยพื้น เกร็งขา เพิ่มความยากด้วยการเตะสลับไล่ความสูงขึ้นเรื่อยๆ

กลุ่มที่ 2 เพิ่มความแข็งแรง สร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่าให้แข็งแรงมากขึ้น

  • ท่าที่ 3 นั่งเก้าอี้ในท่าปกติ ยกต้นขาขึ้นตั้งฉาก 1 ข้าง และเกร็งกล้ามเนื้อช่วงต้นขาหน้า ค่อยๆ ยืดหน้าแข้งให้ขนานพื้น ค้างไว้ 1 วินาที และชักหน้าแข้งกลับที่เดิม
  • ท่าที่ 4 ยืดขาให้สุด วางฝ่าเท้าให้เต็มพื้น จิกฝ่าเท้าติดพื้น และค่อยๆ ลากเข้าหาลำตัวช้าๆ

กลุ่มที่ 3 เหยียดร่างกาย เพื่อยืดเส้นหลังออกกำลังกาย

  • ท่าที่ 5 นั่งเก้าอี้เหยียดขาไปด้านหน้า 1 ข้าง กดเข่าให้ตึง วางฝ่าเท้าไว้กับพื้นกระดกปลายเท้า แล้วค่อยๆ ไล่มือลงไปตั้งแต่ต้นขา หัวเข่า หน้าแข้ง และปลายเท้า
  • ท่าที่ 6 ยืนจับเก้าอี้ ยกปลายเท้า 1 ข้างมาด้านหลัง และจับปลายเท้าไว้ให้เข่ายืดตรง ไม่เอียงไปด้านข้าง

ท่ากายบริหารทั้ง 6 ท่านี้เป็นท่ากายบริหารที่ทาง สสส. แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่อาจเป็นโรคเข่าเสื่อมหรือข้อเข่าเสื่อมได้ปฏิบัติ เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรค และเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข นอกจากนั้นบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงก็สามารถทำท่ากายบริหารเหล่านี้ได้เช่นเดียวกันเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย