ไม่ได้ทำงานออฟฟิศ ก็เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมได้นะ
เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ ออฟฟิศซินโดรม กันมาไม่มากก็น้อย โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะคิดว่าอาการนี้มีสาเหตุเกิดมาจากการนั่งทำงานในออฟฟิศต่อเนื่องกันเป็นเวลานานสะสมให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น บริเวณคอ บริเวณหลัง บริเวณบ่า และบริเวณไหล่ ได้ แต่รู้หรือไม่ว่าออฟฟิศซินโดรมนั้นไม่เพียงแต่ชาวพนักงานออฟฟิศหรือพนักงานบริษัทก็เป็นได้ แต่บุคคลที่ประกอบอาชีพอื่นก็มีความเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมเช่นเดียวกัน
ทำไมการที่ไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศจึงเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมได้
สาเหตุที่ว่าทำไมถึงแม้จะไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศแต่ก็สามารถเป็นออฟฟิศซินโดรมได้นั้นง่ายมาก เนื่องจากต้นตอสาเหตุหลักของการเกิดออฟฟิศซินโดรมนั้นไม่ได้มาจากออฟฟิศแต่อย่างใด แต่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตซึ่งเข้าข่ายและมีความเสี่ยงก่อให้เกิดอากาออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง
โดยออฟฟิศซินโดรมนั้นมีสาเหตุมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการขยับ ปรับเปลี่ยนท่าทาง หรืออิริยาบถ เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมฯ เป็นระยะเวลานาน การเพ่งสายตามากๆ การนั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ โดย อาการของออฟฟิศซินโดรมก็จะมีหลายระดับตั้งแต่ปวดเมื่อยเล็กน้อยรุนแรงไปจนถึงอาการชาตามปลายประสาท
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม
นอกจากพนักงานออฟฟิศแล้วผู้ที่ต้องเผชิญกับพฤติกรรมเสี่ยงให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้ง่ายก็มีโอกาสที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมได้เช่นเดียวกัน เช่น พนักงานขับรถที่ต้องขับรถเป็นเวลานาน พนักงานขายที่ต้องยืนขายสินค้าและบริการต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน นักเขียน หรือแม่กระทั้งอาชีพแม่บ้านเองก็ตาม
ป้องกันออฟฟิศซินโดรมอย่างไรได้บ้าง
วิธีการป้องกันและรับมือกับอาการออฟฟิศซินโดรมที่สามารถเห็นผลได้เป็นอย่างดีก็คือ การหมั่นขยับร่างกาย ปรับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ไม่ทำอะไรด้วยท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ควรให้ร่างกายได้มีระยะเวลาพักผ่อน นอกจากนี้ควรหมั่นที่จะออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ความทนทานและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย อยู่เสมอๆ